การประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ชื่อเรื่อง        การประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต2

ปีที่พิมพ์       2563
ผู้วิจัย          ว่าที่ร.ต.หญิงกัลยกร  พรมนาไร่
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต2

การประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยงโรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อประเมินความเหมาะสม และความสอดคล้องของสภาพแวดล้อม (บริบท : Context) ด้านความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครู ของโรงเรียนในสังกัด 2) เพื่อประเมินความพร้อมในด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการ ด้านข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้ารับการอบรม และกระบวนการระบบพี่เลี้ยง 3) เพื่อประเมินกระบวนการ (Process) การดำเนินโครงการ ในด้านการวางแผน การนำไปปฏิบัติการนิเทศติดตามประเมินผล และการรายงาน 4) เพื่อประเมินผลลัพธ์ (Outcomes : IEST) ของโครงการด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) การประเมินประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation)การประเมินความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) และการประเมินการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability Evaluation)

การประเมินครั้งนี้ได้ใช้รูปแบบการประเมิน โดยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPIEST ของ Daniel L. Stufflebeam ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมิน ที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการฯ ประกอบด้วย ครูผู้สอน ผู้บริหาร มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ประเด็นการสนทนากลุ่ม แบบสำรวจตนเอง และการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ

กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ ทั้ง 10 แห่ง จำนวน 40 คน ครูพี่เลี้ยง จำนวน 10 คน

ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่

  1. ผู้ให้ข้อมูลเพื่อกำหนดกรอบการประเมินและตัวชี้วัด รวมทั้งสิ้น 78 คนประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ครูผู้สอน จำนวน 40 คน ครูพี่เลี้ยง จำนวน 10 คน ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 10 คน พี่เลี้ยงจากกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมิน และการดำเนินโครงการ จำนวน 10 คน ผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2 จำนวน 3 คน
  2. ผู้ให้ข้อมูลในการประเมินโครงการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 50 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 40 คน ครูพี่เลี้ยง จำนวน 10 คน

เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น (Checklist) มาตรประมาณค่า 5 ระดับ (Likert, 1932) และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจ มาตรประมาณค่า 5 ระดับ ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน และทดลองใช้เครื่องมือก่อนนำไปใช้จริง

             ผลการประเมินโครงการ

ผลการประเมินบริบท (Context Evaluation) สภาพแวดล้อมในการจัดทำโครงการ พบว่า ความต้องการจำเป็นของโครงการมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษาทุกระดับ มีความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน และมีความเหมาะสมกับสภาพชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีหลักการและเหตุผล ทางด้านนโยบาย ความจำเป็น และความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ และมีความเป็นไปได้ที่สามารถจะจัดทำโครงการ และพบว่าพี่เลี้ยง และครูพี่เลี้ยงมีศักยภาพ ความพร้อมและประสบการณ์ในการพัฒนาครู เนื่องจากมีประสบการณ์ในการเป็นวิทยากร จัดการศึกษา   มาเป็นระยะเวลายาวนาน และเป็นครูเชี่ยวชาญ

ส่วนปัญหาที่พบ ครูผู้สอนส่วนใหญ่ยังไม่นำรูปแบบ เทคนิคการสอนแบบใหม่ๆ ไปใช้ ขาดสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน และไม่วิเคราะห์ หรือสะท้อนปัญหาที่พบจากการสอน เพื่อนำมาทำวิจัยในชั้นเรียน

  1. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) พบว่า ครูผู้สอนที่เข้าร่วมโครงการมีความพร้อม และมีความสมัครใจที่จะพัฒนาวิชาชีพของตนเอง ซึ่งกระบวนการกำกับติดตามดูแลให้คำปรึกษา หรือกระบวนการระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) นั้นเปิดโอกาสให้ครูได้ร่วมพัฒนาจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ พัฒนานวัตกรรม ทดลองใช้ในชั้นเรียน ปรับปรุงพัฒนา เยี่ยมชั้นเรียนสะท้อนคิดร่วมกัน และจัดทำรายงานวิจัยในชั้นเรียน
  2. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) ซึ่งเป็นการประเมิน          การปฏิบัติตามแผน และประเมินในขณะดำเนินงาน เพื่อตรวจสอบกิจกรรมเวลา ทรัพยากรที่ใช้ในโครงการ และมีการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ สำหรับจุดที่ควรพัฒนา คือ ความเหมาะสมของเวลาในการจัดกิจกรรม อาจต้องปรับเวลาให้ยืดหยุ่นและเพียงพอเหมาะสมกับกิจกรรม และกิจกรรมต่างๆ ในโครงการสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ และพบว่า ด้านเวลาเข้าร่วมกิจกรรม ครูผู้สอนทุกคนมีเวลาครบ การส่งงานครบทุกคน โดย ส่งแผนการจัดการเรียนรู้ 1 หน่วย และรายงานวิจัยในชั้นเรียนอย่างน้อย 1 เรื่อง พบว่ามีผลการประเมินในระดับ ดี ถึงดีเยี่ยม เนื่องจากการติดตามดูแลของครูพี่เลี้ยง (Mentor)
  3. ผลการประเมินผลลัพธ์ (IEST Evaluation) จากการประเมินผลลัพธ์ของโครงการ  มีรายละเอียดดังนี้

4.1 ด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) พบว่า จากการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ ส่งผลให้ครูสามารถสร้างผลงานทางวิชาการ หรือนวัตกรรมการเรียนการสอนมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยมิติความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมพัฒนาของครูพี่เลี้ยงสู่ครูผู้สอน เกิดครูมืออาชีพ เกิดเครือข่ายร่วมพัฒนาวิชาชีพ และเครือข่ายครูร่วมนิเทศ ลดภาระงานของผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ ในการนิเทศการเรียนการสอน เพิ่มทักษะการนิเทศภายในให้ครูโดยใช้ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) และการสอนแนะ (Coaching)  ครูนำผลงานส่งเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะส่งผลให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2          มีครู และผู้บริหารที่มีวิทยฐานะสูงเพิ่มขึ้น

4.2 ด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) การดำเนินโครงการ พัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ ส่งผล ในการช่วยเหลือครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถ ด้านภาษา (Literacy) ด้านคำนวณ (Numeracy) และเชิงเหตุผล (Reasoning Ability) และการทำวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งช่วยพัฒนาครูในการปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ของตนเองได้ดียิ่ง และผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ พบว่า ความพึงพอใจของครูผู้สอน ครูพี่เลี้ยง และผู้บริหาร ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความพึงพอใจในการดำเนินงานโครงการฯ ในระดับมาก

4.3 ด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) การดำเนินโครงการ พัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ ส่งผลให้ครูมีความมุ่งมั่น มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จ มีความสามารถในการทำวิจัย และผลเชิงประจักษ์ที่ครูสามารถส่งผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครู และผู้บริหารที่มีวิทยฐานะสูงเพิ่มขึ้น และส่งผลงานร่วมแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมทางวิชาการ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระดับประเทศ ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งผู้เรียน และครู

4.4 ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability Evaluation) การดำเนินโครงการ พัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ ส่งผลให้มีครูพี่เลี้ยง (Mentor) เป็นครูต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น มีการขยายผลเกิดระบบการนิเทศภายในที่เป็นระบบ โดยใช้กระบวนการนิเทศแบบพี่เลี้ยง กระบวนการนิเทศแบบสอนแนะ เกิดการเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ สามารถนำเทคนิคการเรียนการสอนใหม่ๆสู่การพัฒนาผู้เรียน ซึ่งส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้น ผลการสอบ RT, NT, O-Net  ผ่านเกณฑ์หลายรายวิชา และคะแนนสูงกว่าระดับประเทศหลายรายวิชา

              ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้

  1. โครงการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาเฝ้าไร่ ในครั้งนี้ ช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาผู้เรียน ช่วยให้ครูมั่นใจในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ และการทำวิจัย  ในชั้นเรียน ดังนั้นโครงการนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้ครูนำผลงานเพื่อร่วมส่งเข้าประกวดแข่งขัน เป็นเกณฑ์การพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ
  2. เปิดโอกาสให้ครูมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้ง 10 โรงเรียนเพิ่มขึ้นในรูปแบบ                    ที่หลากหลายวิธีการ และมีการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการ เพิ่มรางวัล การประกวดแข่งขัน และมีเกณฑ์กำหนดให้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือครูทุกคน ทุกร่วมกิจกรรม
  3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2 มีจุดเด่นคือ มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษา สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาครูทุกรูปแบบ ส่งผลให้ครูมีโอกาสในการพัฒนาและมีความรู้ความสามารถสูงขึ้น
  4. รูปแบบการประเมินแบบ CIPIEST เป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการประเมินโครงการ เพราะมีการเก็บข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย ทำให้ได้ข้อมูลในการนำมาปรับปรุงละพัฒนาโครงการ

             ข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการครั้งต่อไป

  1. ปรับปรุงด้านระยะเวลาในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เวลาสำหรับครูในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ และการเขียนรายงานวิจัยในชั้นเรียน
  2. เพิ่มรูปแบบ หรือเทคนิคการเรียนการสอนที่ครูสามารถนำไปปรับเพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอน
  3. สอบถามความต้องการในการพัฒนาวิชาชีพของครู เพื่อให้ครูพัฒนาตนเองตามที่ถนัด และสอดคล้องกับความต้องการ
  4. ควรมีการทำวิจัยติดตามผลการดำเนินงาน โครงการฯ เพื่อศึกษาความคงทน และเป็นสารสนเทศในการพัฒนาครูให้ยั่งยืนต่อไป12. เผยแพร่ผลงานทางวิชาการออนไลน์